ขี้เหล็ก งานวิจัยและสรรพคุณ 25ข้อ
ชื่อสมุนไพร ขี้เหล็ก
ชื่ออื่นๆ ขี้เหล็กแกน (ราชบุรี) , ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี) , ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) , ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง) ,ผักจี้ลี้ (ไทยใหญ่ แม่ฮ่องสอน) , แมะขี้เหละพะโด (กะเหลี่ยงแม่ฮ่องสอน) , ยะหา (มลายู ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna siamea (Lam.) Irwin et Barneby
ชื่อพ้อง Cassia florida Vahl, C. siamea Lam.
ชื่อสามัญ Cassod tree , Thai copper pod , Siamese cassia
วงศ์ Fabaceae (Leguminosae – Ceasalpinioideae)
ถิ่นกำเนิดขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก มีชื่อเรียกในทาง พฤกษศาสตร์ว่า Cassia siamea Lamk. ซึ่งคำว่า siamea ที่เป็นชื่อชนิดของขี้เหล็กนั้น มาจากคำว่า Siam หรือสยาม ทั้งนี้ เพราะผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นขี้เหล็กบ้าน ความจริงต้นขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในหลายประเทศ เดิมเป็นไม้ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับจากหมู่เกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียไปจนกระทั่งถึงประเทศศรีลังกาต่อมามีผู้นำเอาไม้ขี้เหล็กไปเป็นไม้ประดับ ขึ้นได้ในดินร่วมปนทรายที่มีการระบายน้ำดี
ประโยชน์และสรรพคุณขี้เหล็ก
รักษาโรคเส้นประสาท นอนไม่หลับ ทำให้หลับสบาย
รักษาหืด
รักษาโรคโลหิตพิการ
รักษารังแค
ขับพยาธิ
ช่วยออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
เป็นยาระบาย และแก้อาหารท้องผูก
ช่วยยับยั้งและชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
รักษาโรคบิด
รักษาโรคเบาหวาน
แก้ร้อนใน
รักษาฝีมะม่วง
รักษาโรคเหน็บชา
ลดความดันโลหิตสูง
ช่วยในการคลายความเครียดบรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน
รักษาโรคหนองใน
รักษาวัณโรค
รักษามะเร็งปอด ปอดอักเสบ มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร
รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการเหน็บชาตามร่างกาย
เป็นยาบำรุงไต
ช่วยลดอาการไอ และขับเสมหะ
แก้ลมดันในระบบทางเดินอาหาร
รักษาแผลกามโรค
รากใช้ทาแก้อัมพฤกษ์ให้หย่อน
ช่วยบำรุงน้ำดี
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ขี้เหล็ก
การใช้ใบขี้เหล็กรักษาอาการท้องผูกตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) ใช้ใบขี้เหล็ก 4-5 กำมือ ต้มเอาแต่น้ำดื่มก่อนอาหาร
แก้อาการนอนไม่หลับ กังวล เบื่ออาหารใช้ใบแห้งหนัก 30 กรัม หรือใบสดหนัก 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน หรือใช้ใบอ่อนทำเป็นยาดองเหล้า (ใส่เหล้าขาวพอท่วมยา แช่ไว้ 7 วัน คนทุกวันให้น้ำยาสม่ำเสมอ กรองกากยาออก จะได้น้ำยาดองเหล้าขี้เหล็ก) ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ยาถ่าย ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดประมาณ 2 องคุลี ใช้ 3-4 ชิ้น ใช้ใบขี้เหล็กอ่อนหรือแก่ต้มกับน้ำ 1-1½ ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มเมื่อตื่นนอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
ช่วยรักษารังแค ด้วยการใช้ดอกขี้เหล็กผสมกับมะกรูดย่างไฟ 2 ลูก โดยต้องย่างให้มีรอยไหม้ที่ผิวมะกรูดด้วย ใช้ดอกขี้เหล็ก 2 ช้อนโต๊ะ พิมเสน 1 ช้อนชา นำมาปั่นผสมกันแล้วเติมน้ำปูนใส 100 cc. ปั่นจนเข้ากัน แล้วคั้นกรองเอาแต่น้ำ จากนั้นนำน้ำมันมะกอกเติมผสมเข้าไปประมาณ 60-100 cc. ผสมจนเข้ากันแล้วนำมาหมักผมทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีก่อนการสระผมทุกครั้ง จะช่วยรักษารังแคได้
นำใบขี้เหล็กมาต้มน้ำสำหรับอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กำจัดเชื้อรา
บรรเทาอาการปวดจากพิษแมลงกัดต่อย ด้วยการนำมาส่วนต่างๆมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนจะประคบบริเวณที่ถูกต่อย
ช่วยในการห้ามเลือด ด้วยการนำใบ และดอกอ่อนมาบด และกดประคบไว้ที่แผล
ลักษณะทั่วไปขี้เหล็ก
• ลำต้นขี้เหล็ก เป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นมีลักษณะไม่สมมาตร ไม่เป็นวงกลม และมักบิดงอ เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ เปลือกแตกเป็นร่องเล็กๆตามยาว เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก เป็นทรงพุ่มใหญ่
• ใบขี้เหล็ก เป็นใบประกอบแบบขนนกชนิดใบคู่ (ใบสุดท้ายเป็นคู่) ใบแตกออกบริเวณกิ่ง เรียงสลับกัน ประกอบด้วยใบหลักยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร แต่ละใบหลักประกอบด้วยใบย่อย เรียงเป็นคู่ๆ 7-16 คู่ ใบย่อยมีรูปร่างรี โคนใบ และปลายใบมน แต่หลักเว้าตรงกลางของปลายใบเล็กน้อย ใบยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นใบมองไม่ค่อยชัดเจน ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีแดงเรื่อ ใบแก่มีสีเขียวสด ไม่มีขน โดยใบอ่อนจะเริ่มแตกออกให้เห็นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งในระยะนี้จะเริ่มเก็บยอดอ่อนมาทำอาหารได้ และใบจะเริ่มแก่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งช่วงนี้จะไม่นำมาทำอาหาร แต่ต่อไปจะนำดอกอ่อนที่ออกในช่วงกรกฎาคมมาทำอาหารแทน
• ดอกขี้เหล็ก แทงออกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะแทงออกเฉพาะบริเวณปลายกิ่งเท่านั้น ช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แต่ละช่อประกอบด้วยดอกจำนวนมาก มากกว่า 10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบรองดอก 3-4 กลีบ กลีบดอกมีสีเหลืองเข้ม จำนวน 5 กลีบ ที่มีขนาดเท่ากัน ถัดมาภายในเป็นเกสรตัวผู้ 10 อัน ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย และรังไข่ ดอกจะเริ่มบานจากโคนช่อ เรื่อยๆจนถึงปลายช่อ ดอกบานเต็มที่มีขนาดประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร เมื่อดอกบานแล้ว 2-3 วัน จะร่วงล่นลงดินดอกจะบานในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมเริ่มติดฝักในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
• ฝัก และเมล็ด ผลขี้เหล็กเรียกว่า ฝัก มีลักษณะแบนยาว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอมดำ ขนาดฝักกว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 15-25 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดเรียงตามความยาวของฝัก จำนวน 20-30 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างรีแบน สีน้ำตาลอมดำ