page41

งาดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ


ชื่อสมุนไพร งาดำ

ชื่อสามัญ Black Sasame seeds Black

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesamum indicum Linn

วงศ์ Pedaliaceae



ถิ่นกำเนิดงาดำ 

งาดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศเอธิโอเปีย แล้วแผ่กระจายไปยังอินเดีย จีน และประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนในประเทศอินเดียมีการระบุว่ามีการปลูกงามาแล้วหลายพันปี ก่อนที่พ่อค้าชาวอาหรับ และเมดิเตอร์เรเนียล จะนำงาไปปลูกแถบอาหรับ และยุโรป


           นอกจากนี้ยังมีผู้พบหลักฐานว่า ชาวบาบิโลนในประเทศโซมาเลียมีการปลูกงามานานกว่า 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล และใช้นํ้ามันงาสำหรับทำยา และอาหาร ซึ่งมีบันทึกใน Medical Papyrus of Thebes กล่าวว่า ทหารโรมันได้นำงาไปปลูกในประเทศอิตาลีในคริสศตวรรษที่ 1 แต่ปรากฏว่าสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะกับการปลูก และในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 และ18 มีการนำงามาปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทาสชาวแอฟริกัน


           ด้านการใช้ประโยชน์จากงาดำ นั้นอินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียจะใช้งาทำเป็นนํ้ามันเพื่อปรุงอาหาร ส่วนชาวยุโรปจะนำงามาทำเค้ก ไวน์ และนํ้ามัน รวมถึงใช้ในการปรุงอาหาร และเป็นเครื่องหอม ส่วนชาวแอฟริกันใช้ใบงาทำ ดอกไม้เพลิง พอกผิวหนัง และใช้เป็นสารไล่แมลงให้สัตว์เลี้ยงเป็นต้น



ประโยชน์และสรรพคุณงาดำ

ช่วยบำรุงร่างกาย

ช่วยบำรุงผม

ช่วยบำรุงผิวพรรณ

ช่วยบำรุงกระดูก

ช่วยบำรุงเล็บ

รักษาอาการท้องผูก ช่วยระบบขับถ่ายดีขึ้น เป็นยาระบายอ่อนๆ

ช่วยป้องกันโรคภาวะกระดูกพรุน

แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ

แก้ปวดบวม

ช่วยลดการอักเสบ

ช่วยในการเผาผลาญ และสลายไขมัน ลดความอ้วน

ช่วยบำรุงระบบประสาท และสมอง

ช่วยให้นอนหลับสบาย

มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ

ช่วยชะลอความแก่

ช่วยป้องกันการเกิดโรคเหน็บชา

ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร

รักษาอาการปวดตามข้อ

รักษาอาการอ่อนเพลีย เมื่อตามร่างกาย

รักษาอาการคัดจมูก

รักษาอาการเป็นหวัด

รักษาอาการปวดประจำเดือน

งาดำ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้


ในปัจจุบันงาดำ นั้นส่วนมากจะนิยมนำมาทำเป็นขนม หรือ ส่วนผสมของขนม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคมากกว่าการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่ก็มีตำรายาไทยแผนโบราณที่ได้ระบุปริมาณการใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น


รักษาอาการปวดตามข้อ ใช้งาคั่วรับประทาน 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์

รักษาอาการอ่อนเพลีย เมื่อตามร่างกาย รับประทานงาคั่ว 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์

รักษาอาการเหน็บชา คั่วเมล็ดงา 1 ลิตร ร่วมกับรำข้าว 1 ลิตร และกระเทียม หั่น 1 กำมือ จากนั้น ตำบดผสมกัน และผสมน้ำผึ้ง หรือ น้ำตาลรับประทาน 1 เดือน

รักษาอาการคัดจมูก ใช้งาคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับกับข้าวสุก หรือ น้ำเต้าหู้รับประทาน 2-3 วัน

รักษาอาการเป็นหวัด รับประทานงาคั่ว วันละ 4 ช้อนโต๊ะ

รักษาอาการท้องผูก ใช้งาคั่วผสมกับเกลือรับประทานร่วมกับข้าว

รักษาอาการปวดประจำเดือน รับประทานงาผง ½ ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง

ใช้บำรุงสมอง และระบบประสาท ใช้งาคั่วผสมกับมะขามป้อม และน้ำผึ้ง รับประทานวันละ 1 ครั้ง

 

ลักษณะทั่วไปของงาดำ


งาดำ เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง อาจแตกกิ่ง หรือ ไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะสีเหลี่ยม มีร่องตามยาว ไม่มีแก่น มีลักษณะอวบน้ำ และมีขนสั้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียว


           ใบงาดำ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นชั้นๆ ตามความสูง ประกอบด้วยก้านใบสั้น ยาวประมาณ แผ่นใบมีรูปหอก สีเขียวสด กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ยาวจรดขอบใบ


           ดอกงาดำ เป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นกลุ่มตรงซอกใบ จำนวน 1-3 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น มีกลีบรองดอก จำนวน 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นกรวย ห้วยลงดิน กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกเมื่อบานมีสีขาว ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลีบล่าง และกลีบบน โดยกลีบล่างจะยาวกว่ากลีบบน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 2 คู่ มี 1 คู่ยาว ส่วนอีกคู่สั้นกว่า ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีก้านเกสรยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายก้านเกสรแหว่งเป็น 2-4 แฉก


           ผลงาดำเรียกว่า ฝัก มีลักษณะทรงกระบอกยาว ผิวฝักเรียบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง และแบ่งออกเป็นร่องพู 2-4 ร่อง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว และมีขนปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา จากนั้น ร่องพูจะปริแตก เพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก สีดำจำนวนมาก เมล็ดเรียงซ้อนในร่องพู เมล็ดมีรูปรี และแบน ขนาดเมล็ดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดบางมีสีดำ มีกลิ่นหอม แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 80-100 เมล็ด


งาดำ


งาดำ


การขยายพันธุ์งาดำ


งาดำขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ซึ่งนิยมปลูกด้วยกัน 2 แบบ คือ การหว่านเมล็ด และโรยเมล็ดเป็นแถว แบ่งช่วงปลูกออกเป็น 3 ช่วง คือ


ช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม

ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

           การเตรียมแปลงปลูกในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง สามารถปลูกงาดำ ได้ทุกฤดู ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทานมักปลูกในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ พื้นที่แปลงปลูกจะต้องไถกลบดิน 1 รอบก่อน และตากดินนาน 7-10 วัน จากนั้น หว่านด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนไถพรวนดินกลบอีกรอบ หรือ หว่านปุ๋ยคอกตั้งแต่ตอนไถรอบแรก (ใช้สำหรับพื้นที่ไม่รกมาก) เพราะรอบต่อมาจะเป็นการหว่านเมล็ดได้เลย ส่วนการปลูกแบบหยอดเมล็ด ให้ไถร่องตื้น หรือ ใช้คราดดึงทำแนวร่องก่อน


การปลูกงาดำ


การปลูกแบบหว่านลงแปลง หลังไถกลบรอบแรก หรือ ไถพรวนดินในรอบ 2 แล้ว ให้หว่านเมล็ดงาดำ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ไร่ ควรหว่านเมล็ดให้กระจายให้มากที่สุด ก่อนไถพรวนหน้าดินตื้นๆ กลบ

การปลูกแบบหยดเมล็ดเป็นแถว หลังไถยกร่อง หรือ ดึงคราดทำแนวร่องเสร็จ ให้โรยเมล็ดตามความยาวของร่อง ให้เมล็ดห่างกันอย่างสม่ำเสมอ ใช้เมล็ดในอัตราเดียวกับการหว่านเมล็ด ก่อนคราดหรือเกลี่ยหน้าดินกลบ

การดูแลรักษาหลังการหว่านเมล็ด


หากปลูกในช่วงแล้ง เกษตรมักติดตั้งระบบให้น้ำ ซึ่งควรให้เป็นประจำ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนการปลูกในฤดูฝน เกษตรมักปล่อยให้งาดำเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ทั้งนี้ หากพบโรค หรือ แมลงให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัด ส่วนการใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในระยะ 1-1.5 เดือน แรกหลังปลูก และอาจใส่ร่วมกับปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ส่วนการกำจัดวัชพืช ให้ลงแปลงถอนวัชพืชด้วยมือเป็นประจำ ทุก 2 ครั้ง/ เดือน โดยเฉพาะใน 1-1.5 เดือนแรก


การเก็บเกี่ยวผลผลิตงาดำ


สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดได้หลังการปลูกประมาณ 70-120 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสังเกตจากฝักที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือ น้ำตาลอมดำ ส่วนใบจะเริ่มสีเหลือง และบางพันธุ์มีการร่วงแล้ว ทั้งนี้ จะต้องเก็บฝักก่อนที่เปลือกฝักจะปริแตก ส่วนพันธุ์งาดำที่นิยมปลูกในปัจจุบันนั้นมีด้วยกัน 4 พันธุ์ คือ


งาดำ บุรีรัมย์จัดเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะเด่น คือ ฝักแบ่งออกเป็น 4 กลีบใหญ่ เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีเกือบดำสนิท มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 90-100 วัน ให้ผลผลิต ประมาณ 60-130 กิโลกรัม/ไร่

งาดำ นครสวรรค์ จัดเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมมากในเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง เหนือ และอีสาน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด และแตกกิ่งก้านมาก ใบมีขนาดใหญ่ มีลักษณะค่อนข้างกลม ส่วนเมล็ดมีสีดำ อวบ และขนาดใหญ่ มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 95-100 วัน ให้ผลผลิต 60-130 กิโลกรัม/ไร่

งาดำ มก.18 เป็นพันธุ์งาดำแท้ ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงปี 2528-2530 ที่ได้จากการผสมของงาพันธุ์ col.34 กับงาดำ นครสวรรค์ มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด แต่ไม่แตกกิ่ง ลำต้นมีข้อสั้น ทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง เมล็ดมีสีดำสนิท 1,000 เมล็ด มีน้ำหนักประมาณ 3 กรัม หากในฤดูฝนจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 85 วัน หากปลูกฤดูหนาว หรือ ฤดูแล้ง มีอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 90 วัน ให้ผลผลิต แต่ค่อนข้างสูง ในช่วง 60-148 กิโลกรัม/ไร่

งาดำ มข.2 เป็นพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธุ์ดั้งเดิม คือ งาดำ พันธุ์ ซีบี 80 ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 105-115 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกกิ่ง แต่แตกน้อย ประมาณ 3-4 กิ่ง/ต้น เมล็ดสีดำสนิท 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 2.77 กรัม มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 70-75 วัน ให้ผลผลิตปานกลางถึงสูง ประมาณ 80-150 กิโลกรัม/ไร่ เป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง และต้านทานต่อโรค  เน่าดำได้ดี